สร้างกติกา-ไม่ใช่ดุด่า สกัดภัยออนไลน์ในบ้าน


Khaosod Online

สร้างกติกา-ไม่ใช่ดุด่า สกัดภัยออนไลน์ในบ้าน

สร้างกติกา-ไม่ใช่ดุด่า สกัดภัยออนไลน์ในบ้าน - สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ร่วมกันจัดเวที “เติมความรักด้วยความรู้...อยู่อย่างไรในโลกออนไลน์” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างการเรียนรู้เท่าทันสื่อ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

รศ.จุมพล รอดคำดี ที่ปรึกษา สสดย. และผู้ทรงคุณวุฒิแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ “สานพลัง เสริมความรู้ อยู่ปลอดภัยในโลกออนไลน์” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มีความสัมพันธ์กับสังคมเป็นอย่างมาก จนเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กและเยาวชนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์ หากขาดความรู้หรือทักษะในการรู้เท่าทัน เวทีนี้ถือเป็นโอกาสที่ สสส. และภาคีทุกภาคส่วนร่วมสื่อสาร เพื่อสานพลังครอบครัวรวมไปถึงบุคคลที่อยู่รอบตัวเด็ก ในการผลักดันและสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลไปสู่สังคมสุขภาวะเพื่อเด็กและเยาวชนต่อไป

ด้าน ‘หมอโอ๋’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ สะท้อนปัญหาว่า เวลาเราเห็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กใน ‘โลกออนไลน์’ มันเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะจัดการแค่สิ่งที่ตนเองเห็น แท้จริงแล้วมันมีสาเหตุที่อยู่ข้างใต้นั้น

สาเหตุที่เด็กติดโลกออนไลน์ เพราะสิ่งนั้นสามารถตอบสนองความต้องการบางอย่างในชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาอัตลักษณ์ เด็กบางคนเมื่อชีวิตจริงไม่ได้รับการยอมรับจึงไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนหรือในโลกออนไลน์ เพราะที่ตรงนั้นเขาสามารถมีตัวตนหรือเป็นที่รู้จัก แต่ก็มีเด็กบางคนเช่นกันที่เข้าไปเพราะความสนุก สาเหตุจากชีวิตจริงไม่สนุกอย่างที่เขาคาดหวัง เมื่อบ้านไม่มีใครอยู่ พ่อแม่ทำงานเป็นหลัก เด็กจึงใช้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่สร้างความสุขและความสนุกด้วยตนเอง

“การติดโลกออนไลน์จนเกินไปของเด็ก อาจเพราะไม่มีกติกาในบ้าน พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กจะจัดการตนเองได้ เพราะโตแล้ว ข้อแนะนำคือต้องสร้างกติกา เช่น ทำสิ่งที่ต้องทำก่อนค่อยไปเล่นเกม ที่สำคัญไม่แพ้กันคือพ่อแม่จะต้องรับฟังความคิด ความต้องการของเด็กแล้วให้คำแนะนำ ฝึกให้เขาควบคุมตัวเอง รู้จักหน้าที่ว่าสิ่งใดควรทำก่อนทำหลัง ไม่ใช่รับฟังเพื่อดุด่าว่ากล่าว นั่นจะยิ่งทำให้เด็กต่อต้านมากขึ้นไปอีก” หมอโอ๋กล่าว

ขณะที่ ครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูผู้นำกระบวนการ HACKATON นวัตกรรมการศึกษาไทย กล่าวว่า โลกออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือ คือพื้นที่ปลอดภัยของเด็กที่เขามีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ระบายความรู้สึก มีสิ่งที่สร้างความบันเทิง โรงเรียนจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้นักเรียนได้ระบายปัญหาคับข้องใจ ครูต้องพูดคุยและให้ความรู้ว่าข้อมูลประเภทใดสามารถเผยแพร่ได้ พยายามเข้าใจและรับฟังเด็ก เมื่อนั้นเขาจะรู้สึกว่าโรงเรียนคือพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่ในโลกออนไลน์

ดร.นพ.ไพโรจน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สถาบันครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการดูแล ผู้ปกครองต้องมีความรู้และสอนเด็กได้ ส่วนตัวเด็กก็ต้องพัฒนาศักยภาพให้รู้เท่าทันสื่อ โดย สสส. จัดทำ “คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ” และนำไปใช้กับโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ซึ่งจะช่วยให้ครูจัดกิจกรรม ออกแบบการเรียนการสอนทำให้เด็กรู้จักตัวตน รู้จักเรียนรู้จากสื่อในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ ต้องผลักดันนโยบายสร้างกฎหมายดูแลสื่อออนไลน์ ไม่ต้องรอให้มีเหยื่อ เพียงแค่เกิดสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อเด็กก็สามารถเอาผิดได้เลย อีกทั้งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องสานพลังกันเพื่ออนาคตของเด็กไทย และผลักดันสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ที่มา https://www.khaosod.co.th

Comments

THANNAM TAEKWONDO SPORT

เรารวบรวมข่าวสาร วงการกีฬาเทควันโด และการกีฬาต่อสู้ MArtial Art ทุกประเภท รวบรวม การแข่งขันในประเภทกีฬาต่าง ระบบการจัดการ สมัครแข่งขันออนไลน์ ในทุกกีฬา.

NEWS UPDATE